การกู้ซื้อบ้านของฟรีแลนซ์ เราจะเน้นไปที่ฟรีแลนซ์แบบบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นรูปแบบในนามบริษัทหรือธุรกิจจดทะเบียน มีเทคนิค ต่อไปนี้ค่ะ
1 เอกสารต้องพร้อม
เอกสารที่ต้องใช้ยื่นประกอบการพิจารณายื่นกู้สินเชื่อควรเตรียมให้พร้อมและครบ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเอกสารพื้นฐานการที่ใช้ยื่นกู้สินเชื่อบ้าน และเอกสารที่ต้องยื่นเพิ่มเฉพาะกลุ่มผู้ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์
สรุปเอกสารพื้นฐาน ประกอบไปด้วย
- สำเนาบัตรประชาชนผู้กู้
- สำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้
- ใบเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล/ทะเบียนสมรส/ใบหย่า (ถ้ามี)
- บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายรับ / รายการเดินบัญชี Statement ย้อนหลัง 6 เดือน – 1 ปี
และอีกส่วนคือเอกสารที่ใช้ในการยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่มผู้ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ ประกอบไปด้วย
1.1 Statement แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง อย่างน้อย 4-6 เดือน
ธนาคารจะพิจารณา รายการเดินบัญชี (Statement) ของผู้กู้เพื่อดูรายรับ ดังนั้นควรยื่นบัญชีที่ใช้รับโอนค่าจ้าง หากรับจากหลายบัญชี ก็ควรรวบรวมมายื่นให้ครบ ทางธนาคารจะได้ตรวจสอบและดูรายได้รวมโดยไม่ขาดตกไป
1.2 แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90)
เมื่อถึงรอบยื่นภาษีประจำปี ซึ่งจะอยู่ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป ฟรีแลนซ์จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 โดยจำนวนเงินที่รวมในการยื่นภาษีเป็นยอดรวมจากใบหัก ณ ที่จ่ายของทั้งปี หากมีใบหัก ณ ที่จ่ายหลายใบให้เอาจำนวนเงินของแต่ละใบมารวมกันแล้วยื่นภาษี ให้เก็บใบเสร็จของยอดที่ชำระไว้คู่กับแบบฟอร์มแสดงรายได้ สำหรับใบเสร็จเก็บไว้ยื่นเวลากู้สินเชื่อเพื่อเป็นหลักฐานว่าเรามีการยื่นแบบภาษีประจำปีอย่างถูกต้อง
1.3 หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ใบ 50 ทวิ)
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารที่ทางนายจ้างจะต้องออกให้เราหลังจากทำงานเสร็จและมีการเบิกจ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้ว ในเอกสารจะระบุจำนวนเงินค่าจ้างและแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย เอกสารนี้สำคัญมาก ควรเก็บไว้ทุกปี หากเป็นไปได้ ควรเก็บย้อนหลัง 2-3 ปีไปเลย
1.4 ใบสัญญาจ้างงาน
บางกรณีบริษัทผู้ว่าจ้างจะมีสัญญาจ้างให้ฟรีแลนซ์เซ็น โดยธนาคารบางแห่งจะขอให้ผู้กู้ยื่นสัญญาจ้างงานนี้ไปด้วยเวลาส่งเอกสารเพื่อให้เอกสารโดยรวมดูน่าเชื่อถือมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเอกสารอื่นๆ เช่น ใบแจ้งหนี้ (Invoice), ใบเสนอราคาที่ได้รับการอนุมัติแล้ว (Quotation ), ใบเสร็จรับเงิน (Receipt), รูปถ่ายผลงาน มีความเกี่ยวข้องกับงานที่ทำ รวมถึงผลงานอื่นๆ ของตัวผู้กู้เอง
2 ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี
การจ่ายภาษีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ ทุกๆปีเราต้องยื่นแบบภาษีภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด โดยการอ้างอิงข้อมูลรายได้ตามใบ 50 ทวิ ที่ออกโดยบริษัทผู้ว่าจ้าง
เมื่อยื่นแบบภาษีแล้วก็จะได้รับเอกสาร ภ.ง.ด.90 และใบเสร็จรับเงิน มนุษย์ฟรีแลนซ์อย่างเราควรเก็บเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายภาษีไว้ให้ดี และควรเก็บย้อนหลังนาน 2-3 ปี เพื่อจะได้มีหลักฐานยื่นกับทางธนาคารได้ค่ะ
3 ไม่ติดเครดิตบูโร
ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารจะขอให้ผู้กู้เซ็นยินยอมให้มีการตรวจสอบประวัติทางธุรกรรม โดยผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลคือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เรียกติดปากว่า “เครดิตบูโร” คนไทยที่ทำธุรกรรมการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเปิดบัญชีออม ผ่อนจ่ายบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า กดบัตรเงินสด หรือรายการทำธุรกรรมอื่นๆ จะถูกบันทึกประวัติไว้ในฐานข้อมูลนี้ทั้งหมดเลย และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้แก่กลุ่มธนาคารใช้พิจารณาประกอบการให้สินเชื่อ ยิ่งตอนเราจะกู้ซื้อบ้าน ข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมก็ควรอยู่ในเกรดดี ไม่ติด Blacklist
หาก มีหนี้สินมากกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ธนาคารจะแนะนำให้ผู้กู้ไปเคลียร์หนี้สิน ชำระที่ยังคงค้างรายการต่างๆให้หมดก่อน กระทั่งปิดบัตรเครดิตไปเลยก็มี หรือเท่าที่เราจะสามารถเคลียร์ได้ จากนั้นก็จะส่งเคสให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อพิจารณาอีกที
4 มีวินัยในการออมเงิน
การมีบัญชีเงินออม ฝากเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยแสดงศักยภาพและความมีวินัยด้านการเงินของผู้กู้ที่เป็นฟรีแลนซ์ได้ เวลาแสดงบัญชีเงินออมให้ธนาคารพิจารณา ก็ควรยื่นเอกสาร Statement ย้อนหลังควบคู่ไปด้วยโดยไม่จำเป็นต้องเป็นบัญชีของธนาคารเดียวกันกับที่ขอยื่นกู้ การฝากเงินออมไม่มีขั้นต่ำที่แน่นอน แต่ถ้าสามารถฝากได้สม่ำเสมอ ก็จะทำให้บัญชีเงินฝากดูดี และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยควรออมสม่ำเสมอติดต่อกัน ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี เป็นอย่างต่ำ